สาเหตุและอาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากอะไร? ป้องกันยังไงได้บ้าง
ภาวะของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและของโลก ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ป่วยที่รอดชีวิต แต่กลายเป็นคนพิการถาวรอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งที่จริงแล้วโรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยไม่มีความผิดปกติหลงเหลือ หากนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา หรือภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง วันนี้เราจึงจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับสาเหตุและอาการ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ป่วย Stroke
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร?
Stroke คือ ภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งอาจเกิดจากการที่หลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดสมองแตก จึงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงสมองได้ ส่งผลให้เซลล์สมองเกิดความเสียหาย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากหลายสาเหตุ อาจเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่กำเนิด เกิดจากอุบัติเหตุบริเวณศีรษะทำให้หลอดเลือดแตก หรือความเสื่อมของหลอดเลือดตามวัยในกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมถึงปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีความเครียดสูง ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
ผู้ป่วย Stroke มักมีอาการเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน บางรายมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีอาการชั่วครู่แล้วหายเป็นปกติ แต่นั่นคือสัญญาณเตือนอันตราย ยิ่งพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเร็วเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสรอดสูงขึ้นเท่านั้น โดยวิธีสังเกตผู้ป่วย Stroke อาการเตือนจำง่าย ๆ ด้วยคำว่า BEFAST ซึ่งย่อมาจาก
B Balance สูญเสียการทรงตัว เดินเซ เดินชน เวียนศีรษะ
E Eyes ตามัว ตาพร่า เห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็นแบบเฉียบพลัน
F Face ใบหน้าชา ปากเบี้ยว มุมปากตก
A Arm แขนขาชา มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก
S Speech พูดไม่ชัด นึกคำที่จะพูดไม่ออก พูดหรือฟังไม่เข้าใจ มึนงง สับสน
T Time รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะทุกนาทีคือโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีชีวิตรอด
ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองจะแตกต่างกันตามลักษณะความผิดปกติของหลอดเลือด โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) พบได้มากถึง 80% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้เกิดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด จนทำให้หลอดเลือดแคบลง ผนังหลอดเลือดหนา ขาดความยืดหยุ่น เลือดจึงไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดี นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ หรือมีลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นบริเวณอื่นไหลมาอุดตัน เป็นต้น
2.หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) มักพบในผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อม ผนังหลอดเลือดเปราะบาง ปริแตกง่าย ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ในขณะที่เลือดบางส่วนก็ไหลออกไปสะสมและกดทับเนื้อเยื่อสมอง ทำให้เซลล์สมองได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก อาการเริ่มแรกจะคล้ายกับอาการหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน แพทย์จึงต้องทำการ CT Scan หรือ MRI เพิ่มเติมเพื่อวางแนวทางการรักษาให้เหมาะสม
วิธีการรักษา Stroke ที่ดีที่สุด
วิธีการรักษา Stroke ขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน แพทย์อาจพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดความดัน ยาลดไขมัน ใส่สายสวนหลอดเลือดแดง ใช้บอลลูนหรือขดลวดช่วยขยายหลอดเลือดที่ตีบ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดแตกและมีเลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดสมอง
ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องการการดูแลระยะยาวที่บ้าน พีชยาเยอร์สซิ่งโฮมเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลมืออาชีพคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การฟื้นฟูและการดูแลสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ